ระบบบริหารงานวิจัย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

งานวิจัย

\"สื่อพื้นบ้านกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านแม่เมาะหลวง : กรณีศึกษา ประเพณีแห่ช้างผ้า\"

โดย :

ผศ.เบญจวรรณ เลาลลิต
ชื่อเรื่อง : สื่อพื้นบ้านกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านแม่เมาะหลวง : กรณีศึกษา ประเพณีแห่ช้างผ้า
ผู้วิจัย : ผศ.เบญจวรรณ เลาลลิต
วันที่เผยแพร่ : 30-11--0001
บทคัดย่อ : การวิจัย เรื่อง “สื่อพื้นบ้านกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านแม่เมาะหลวง : กรณีศึกษาประเพณีแห่ช้างผ้า” ในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research :PAR) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของสื่อพื้นบ้าน “ประเพณีแห่ช้างผ้า” ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางเพื่อเสนอรูปแบบและวิธีการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีแห่ช้างผ้าของชุมชนบ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของประเพณีแห่ช้างผ้าของชุมชนบ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย คือศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องประเพณี วัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับประเพณีแห่ช้างผ้าศึกษาบริบทของชุมชนเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้นำชุมชน เก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีและรูปแบบของประเพณี โดยเข้าร่วมประเพณีแห่ช้างผ้า จากการวิจัยพบว่า รูปแบบสื่อพื้นบ้าน “ประเพณีแห่ช้างผ้า” บ้านเมาะหลวง หมู่ที่ 8 ต.แม่เมาะ จ.ลำปาง นั้นเป็นประเพณีที่เก่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการจัดทำช้างจำลองขนาดเท่าตัวจริงหรือเล็กกว่าเล็กน้อย มีงวง งา หู หางกระติกได้ ทำจากไม้แล้วหุ้มด้วยผ้า เรียกว่า “ช้างผ้า” นำมาแบกแห่กันเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูต่อช้าง นับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเมาะหลวง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ เป็นแห่งเดียวในจังหวัดลำปางที่มีประเพณีแห่ช้างผ้า บทบาทหน้าที่ของประเพณีแห่ช้างผ้าในการแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนสื่อพื้นบ้าน “ประเพณีแห่ช้างผ้า”ของชาวเมาะหลวง หมู่ที่ 8 อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นับว่าเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงตัวตน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับช้างซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นความเชื่อของความเป็นมงคลแก่ชีวิตของวิถีชีวิตชุมชนบ้านเมาะหลวง แสดงออกถึงความสามัคคี ความเสียสละ และการมีส่วนร่วมของชุมชน และแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ที่เป็นประเพณีดั้งเดิม ที่สืบเชื้อสายตามความเชื่อของบรรพบุรุษที่มีความรักความผูกพัน ความกตัญญูต่อช้าง สัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะและการใช้งาน แฝงความเชื่อเข้ากับตำนาน จนเกิดเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์และความสวยงามตามวัฒนธรรมให้ลูกหลานปฏิบัติสืบทอดกันมา บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจน ส่วนรูปแบบและวิธีการในการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีแห่ช้างผ้า ทำได้โดยการอนุรักษ์ประเพณีนี้ให้คงอยู่สืบไป อาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ส่งเสริมประเพณีให้คนในชุมชนตระหนักในความสำคัญของประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูต่อช้างที่มีพระคุณต่อการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ขอสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานภายนอก และโดยการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนในชุมชนบ้านเมาะหลวงตระหนักถึงคุณค่า แก่นสาระ และความสำคัญของประเพณีแห่ช้างผ้า ให้เยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในประเพณีดังกล่าว ร่วมกันจัดทำช้างผ้า จัดทำหอผ้า การหามช้างเข้าร่วมขบวนแห่ ร่วมตีกลองนำขบวนแห่
Abstract :
รายละเอียด :